การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีในสถานบริการสุขภาพ (S&D E-Learning) Thai DriSti Intervention
"การทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรม Thai DriSti intervention ในนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาล เพื่อลดการตีตราทางสังคมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี (Evaluation of the Thai Drive against Stigma Intervention (Thai DriSti Intervention) among Medical and Nursing Students in Thailand)"

ชุดการเรียนรู้ที่ 4
รายละเอียด:
ชุดการเรียนรู้ที่ 4
ช่องทางการติดต่อของเชื้อเอชไอวีและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
บรรยาย (8): ช่องทาง/วิธีการติดต่อของเชื้อเอชไอวี
เนื้อหา: ชุดการเรียนรู้นี้จะเป็นการให้ผู้เรียนทำความเข้าใจช่องทาง/วิธีการติดต่อของเชื้อเอชไอวี รวมทั้งให้สามารถประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อโดยใช้หลักการ QQR
หลักการ QQR เป็นหลักที่อธิบายว่าการที่บุคคลจะติดเชื้อเอชไอวีได้นั้นจะต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ปริมาณของเชื้อ (Quantity): ต้องมีเชื้อเอชไอวีปริมาณที่มากพอในสารคัดหลั่งที่เป็นที่อยู่ของเชื้อเอชไอวี
2. คุณภาพของเชื้อ (Quality): เชื้อเอชไอวีต้องมีคุณภาพเพียงพอ โดยคุณภาพของเชื้อจะมากหากเพิ่งออกมาจากร่างกาย และจะลดคุณภาพลงเรื่อย ๆ เมื่ออยู่นอกร่างกาย หรืออยู่ในบางอวัยวะในร่างกายที่สภาพแวดล้อมที่เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวได้ เช่น กรดในกระเพาะอาหาร สภาพอากาศ ความร้อน ความแห้ง น้ำยา/สารเคมีต่าง ๆ
3. ช่องทางการติดเชื้อ (Route of Transmission): เชื้อเอชไอวีจะถูกส่งผ่านจากคนที่ติดเชื้อไปยังอีกคนหนึ่งได้นั้น เชื้อต้องมีการตรงเข้าสู่กระแสเลือด โดยช่องทางการได้รับเชื้อหลัก ๆ ประกอบไปด้วย เลือด การมีเพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูก
แบบทดสอบ (5): ช่องทาง/วิธีการติดต่อของเชื้อเอชไอวี
ให้ผู้เรียนเลือกว่าข้อความที่ปรากฏบนหน้าจอนั้น เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวีหรือไม่ (ตัวเลือก: เสี่ยง/ไม่เสี่ยง) ข้อความที่จะปรากฏบนหน้าจอของผู้เรียน ประกอบไปด้วย
1. การรับการฉีดยาด้วยเข็มและกระบอกฉีดยาปลอดเชื้อ
ตอบ ไม่เสี่ยง เนื่องจากการทำให้ปลอดเชื้อเป็นกระบวนการทำลายเชื้อที่สามารถกำจัดได้แม้จะอยู่ในรูปสปอร์ จึงไม่มี ปริมาณของเชื้อ (Quantity) ที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
2. การใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
ตอบ ไม่เสี่ยง โดยถึงแม้ว่าเชื้อเอชไอวีอาจพบได้ในน้ำลาย แต่ก็มีในปริมาณ (quantity) ที่น้อยมากที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยจำเป็นต้องดื่มน้ำลายปริมาณหลาย ๆ ลิตร จึงจะทำให้เกิดการการติดเชื้อ
3. การใช้ห้องน้ำสาธารณะต่อจากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีเคยใช้
ตอบ ไม่เสี่ยง เนื่องจากคุณภาพของเชื้อ (Quality) น้อยมากเมื่อเชื้อเอชไอวีอยู่ในสภาพแวดล้อมนอกร่างกาย ร่วมกับไม่มีช่องทางเข้า (Route of Transmission) ของเชื้อสู่ร่างกาย
4. การให้นมบุตรจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี
ตอบ เสี่ยง เนื่องจากมีเชื้อเอชไอวีในน้ำนมมารดาที่ติดเชื้อ (Quantity) และเชื้อมีคุณภาพดีเนื่องจากเพิ่งออกจากร่างกาย (Quality) รวมทั้งมีช่องทางเช้าของเชื้อสู่กระแสเลือด (Route of Transmission) ผ่านเยื่อบุช่องปากและทางเดินอาหารของทารก
5. การรับประทานอาหารที่ปรุงโดยผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
ตอบ ไม่เสี่ยง เนื่องจากเชื้อเอชไอวีไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้เมื่ออยู่นอกร่างกาย (Quality) ดังนั้นเชื้อเอชไอวีไม่สามารถปนเปื้อนไปทางอาหารได้
6. ยุงกัด
ตอบ ไม่เสี่ยง เนื่องจากเชื้อเอชไอวีมีชีวิตอยู่ได้ในคนเท่านั้น ไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในตัวยุง (ไม่มี Quality)
7. ถูกเข็มใช้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้วทิ่ม/ตำ
ตอบ เสี่ยง เนื่องจากมีเชื้อเอชไอวีในเลือดที่อยู่ในรูเข็มที่ใช้แล้ว (Quantity) เชื้อมีคุณภาพดีหากถูกตำหลังเจาะเสร็จทันที (Quality) และเชื้อสามารถผ่านทะลุผิวหนังเข้ากระแสเลือด (Route of Transmission)
8. น้ำคร่ำกระเด็นเข้าตาขณะทำคลอด
ตอบ เสี่ยง เนื่องจากมีเชื้อเอชไอวีในน้ำคร่ำถึงแม้จะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับเลือด (Quantity) เชื้อมีคุณภาพดีเนื่องจากเพิ่งออกจากร่างกายของมาดาที่ติดเชื้อ (Quality) รวมทั้งมีช่องทางเช้าของเชื้อสู่กระแสเลือด (Route of Transmission) โดยเข้าผ่านทางเยื่อบุตา
9. สวมถุงมือทำแผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ตอบ ไม่เสี่ยง ถึงแม้การทำแผลที่มีเลือด (มี quantity) และเลือดสดคุณภาพเชื้อดี (มี quality) แต่การสวมถุงมือช่วยป้องกันการสัมผัสโดนเลือดและสารคัดหลั่ง ส่งผลให้ไม่มีทางเข้าของเชื้อเอชไอวีสู่กระแสเลือด (route of transmission) ได้
10. การรื้อผ้าปูเตียงที่สกปรกออกจากเตียงของผู้ป่วย
ตอบ ไม่เสี่ยง หากเป็นผ้าเปื้อนที่ไม่มีเลือดสด (Quantity) ที่เพิ่งออกจากตัวผู้ป่วย (Quality) และผู้รื้อเก็บผ้าไม่มีแผลที่มือหรือนิ้วมือ (Route of Transmission)
ตอบ เสี่ยง หากเป็นผ้าเปื้อนที่มีเลือดสด (Quantity) และเพิ่งออกจากตัวผู้ป่วย (Quality) รวมทั้งผู้รื้อเก็บผ้ามีแผลที่มือหรือนิ้วมือ (Route of Transmission) ที่สามารถเป็นช่องทางเข้าของเชื้อสู่กระแสเลือด อย่างไรก็ตามสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการสวมถุงมือ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้มีช่องทางเข้าของเชื้อสู่ร่างกาย
11. การเช็ดตัวให้ผู้ป่วยเอดส์ที่มีตุ่มคันตามตัว
ตอบ ไม่เสี่ยง หากเป็นตุ่มคันนั้นที่ไม่มีเลือดสด (Quantity) ที่เพิ่งออกจากตัวผู้ป่วย (Quality) และผู้เช็ดตัวให้ผู้ป่วยไม่มีแผลที่มือหรือนิ้วมือ (Route of Transmission)
ตอบ เสี่ยง หากเป็นตุ่มคันนั้นที่มีเลือดสด (Quantity) ที่เพิ่งซึม/หลั่งออกจากตัวผู้ป่วย (Quality) รวมทั้งผู้เช็ดตัวให้ผู้ป่วยมีแผลที่มือหรือนิ้วมือ (Route of Transmission) อย่างไรก็ตามสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการสวมถุงมือ ได้เช่นเดียวกันกับการทำแผล/รื้อผ้าปูเตียงที่สกปรกออกจากเตียงของผู้ป่วย
เมื่อสิ้นสุด Exercise 3 ผู้บรรยายทำการสรุปหลัก QQR อีกครั้ง
บรรยาย (9): สรุปแบบทดสอบที่ 5
เนื้อหา: จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือ การทำให้คุณตระหนักถึงวิธีการที่เชื้อเอชไอวี สามารถ ติดต่อและไม่สามารถติดต่อได้ การคิดว่าเชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกันทั่วๆ ไป สามารถทำให้ เกิดความกลัวเกี่ยวกับการสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีในสถานบริการสุขภาพได้ ในทางกลับกันอาจส่งผลให้ การรักษาผู้ป่วย ที่ติดเชื้อเอชไอวีแตกต่างไปจากผู้ป่วยรายอื่น ซึ่งถือเป็น การเลือกปฏิบัติ
ใบรับรอง/Certification: